เจ้าหน้าที่อียูยืนยันจดหมายเชิญ ‘ยิ่งลักษณ์‘ เป็นของจริง

25 พ.ย. 58 09.14 น.



เจ้าหน้าที่ผู้ช่วยกิจการรัฐสภาของส.ส.สภายุโรป ยืนยันว่า จดหมายเชิญอดีตนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ไปพูดคุยเรื่องสถานการณ์ในประเทศไทยเป็นของจริง

(25 พ.ย.) นายสเตฟาน ชมิดซ์ (Stefan Schmitz) เจ้าหน้าที่ผู้ช่วยกิจการรัฐสภาของ นายแวร์นาร์ แลเนิน (Werner Langan) ส.ส.สภายุโรป เปิดเผยกับบีบีซีไทยโดยยืนยันว่า จดหมายเชิญอดีตนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ไปพูดคุยเรื่องสถานการณ์ในประเทศไทยนั้น เป็นจดหมายที่ออกโดยนายแลเนิน และ ส.ส.เอลมาร์ โบรค (Elmer Brok) จริง พร้อมกันนั้นนายชมิดซ์ยังได้ส่งสำเนาจดหมายมายังทีมงานอีกครั้งหนึ่งเพื่อเป็นการยืนยัน

นายชมิดซ์บอกว่า หากมีการพบปะกัน นายแลเนิน และนายโบรคมีแผนจะให้ข่าวร่วมกันนายชมิดซ์ตอบคำถามของบีบีซีไทยแทน ส.ส. แลเนิน หลังจากที่ได้รับอีเมลสอบถามจากบีบีซีไทยว่าจดหมายเชิญที่ส่งไปให้อดีตนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น เป็นจดหมายที่ออกโดยบุคคลทั้งสองจริงหรือไม่ แต่เขาระบุว่า ขณะนี้ ส.ส.ทั้งสองคนยังจะไม่ให้สัมภาษณ์ใด ๆ

นายแลเนินมีตำแหน่งเป็นประธานคณะวิเทศสัมพันธ์ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน ส่วนนายโบรค เป็นประธานของคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศของสภายุโรป

จดหมายเชิญของประธานคณะวิเทศสัมพันธ์ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียนและประธานกรรมาธิการกิจการต่างประเทศของสภายุโรป ส่งถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ลงวันที่ 7 ต.ค. 2558 หัวกระดาษเป็นของสภายุโรป ลงชื่อโดยบุคคลทั้งสอง

เนื้อหาส่วนหนึ่งของจดหมายกล่าวว่า ตั้งแต่ที่มีรัฐประหารเป็นต้นมา สถานการณ์ในไทยค่อนข้างน่าเป็นห่วง ประเทศไทยยังคงไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและคาดหมายกันว่าจะเป็นเช่นนี้ไปจนถึงกลางปี 2560 ระยะเวลาที่สถานการณ์ไม่แน่นอนจึงดำเนินต่อไป ขณะที่สภาปฏิรูปก็ได้ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจากการยกร่างของคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดย คสช. เท่ากับว่าต้องมีการยกร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่

จดหมายบอกว่า ช่วงนี้จึงน่าจะเป็นโอกาสอันดีในอันที่จะมีการถกเถียงกันอย่างเปิดกว้างสำหรับเรื่องร่างรัฐธรรมนูญของไทย อีกด้านหนึ่งจดหมายบอกว่า การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกปลดจากตำแหน่ง และถูกดำเนินคดีก็เป็นประเด็นที่น่าห่วงด้วยเช่นกัน

จดหมายกล่าวอีกว่า สหภาพยุโรปยืนหยัดในเรื่องประชาธิปไตยและสนับสนุนคุณค่าที่เป็นประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้จึงขอเชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องของสถานการณ์ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นที่กรุงบรัสเซลส์หรือเมืองสตราสบูร์ก และในเวลาที่อดีตนายกรัฐมนตรีสะดวก

จดหมายดังกล่าวทำให้เกิดปฏิกิริยาต่างๆ กันไป ผู้ใช้โซเชียลมีเดียส่วนหนึ่งเชื่อว่าไม่ใช่ของจริง พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าจดหมายมีลักษณะไม่เป็นทางการ เนื่องจากมีการจั่วหัวจดหมายเรียกอดีตนายกรัฐมนตรีว่า คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และในการลงชื่อท้ายจดหมายก็ไม่ปรากฏว่ามีการให้รายละเอียดตำแหน่งผู้ลงชื่อทั้งสองแต่อย่างใด

นอกจากนั้นก็มีการวิเคราะห์กันว่า ถึงจดหมายนี้จะเป็นของจริงแต่ก็ต้องเป็นผลมาจากการวิ่งเต้นอย่างหนัก รวมทั้งว่า จดหมายนี้น่าจะออกในนามส่วนตัวไม่ใช่ในนามของเจ้าหน้าที่แห่งสภายุโรป นอกจากนั้นมีผู้เสนอให้ตรวจสอบจดหมาย บางฝ่ายเสนอไม่ให้อนุญาตให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางออกนอกประเทศเพราะเกรงจะหลบหนี

Source:  http://news.sanook.com/1904982/
Previous
Next Post »
0 Komentar