10 อันดับเรื่องเขย่าขวัญ-สะเทือนใจ ‘รอบโลก’ ปี 2558

วันอังคารที่ 29 ธันวาคม 2558

ในปี 2558 ที่ผ่านมา นับว่ามีเหตุการณ์สะเทือนขวัญชาวโลก อาทิ ความรุนแรงจากการก่อการร้าย อุบัติเหตุครั้งใหญ่ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดย News MThai ได้รวบรวมเรื่องราวสะเทือนอารมณ์รอบโลกใน1ปีที่ผ่านมา มาฝากดังนี้

1.สังหารหมู่สุดเหี้ยม กองบรรณาธิการนิตยสาร ชาร์ลี เอบโด เมื่อเสรีภาพล้ำเส้นความเชื่อทางศาสนา ?


เปิดศักราชมาพร้อมเรื่องสะเทือนขวัญ เกี่ยวกับภัยการก่อการร้ายครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 7 มกราคม มือปืน 2 รายบุกกราดยิงสำนักงาน ‘ชาร์ลี แอบโด’ ซึ่งเป็นสำนักงานนิตยสารเสียดสีสังคมสัญชาติฝรั่งเศส ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงปารีส มีผู้เสียชีวิต 17 ราย ซึ่งวันเกิดเหตุผู้ก่อเหตุตะโกนคำว่า ‘อัลเลาะห์ อัคบาร์’ หรือการ สรรเสริญอัลเลาะห์ โดยในวันนั้น เป็นวันเดียวกับที่กองบรรณาธิการเห็นชอบให้ตีพิมพ์การ์ตูนเสียดสีกฎหมายศาสนา

ทราบต่อมาว่ามือปืนทั้งสองคือพี่น้องกัน มีชื่อว่านายเชรีฟ และซาอิด คูอาชี วัย 32 และ 34 ปีตามลำดับ ทั้ง 2 คน มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงปารีส ทั้งนี้มูลเหตุน่าจะมาจากการที่นิตยสารเล่มดังกล่าว มีการวาดภาพล้อเลียนศาสนา ทำให้กลุ่มผู้ก่อเหตุ เกิดความเคียดแค้น ซึ่งผู้ก่อการคือกลุ่มอัลกออิดะฮ์ และผู้ต้องสงสัยคือกลุ่มรัฐอิสลามในอิรักและซีเรีย หรือกลุ่มไอเอส

2. เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ‘กลุ่มไอเอส’ ย่างสด ตัวประกันนักบินหนุ่มชาวจอร์แดน 


นับเป็นข่าวชวนสยองพองขน กรณีที่กลุ่มรัฐอิสลามในอิรักและซีเรีย หรือ กลุ่มไอเอส แพร่คลิปสังหารตัวประกันชาวจอร์แดน เรืออากาศโท มาอัซ อัล-คาสซาเบห์ ด้วยการเผาทั้งเป็น คลิปดังกล่าวทำให้ประชาชนทั่วโลก หวาดผวา ถึงภัยจากกลุ่มก่อการร้าย ที่สังหารตัวประกันอย่างโหดเหี้ยม เรื่องราวดังกล่าวถูกพูดถึงไปอย่างกว้างขวาง และกลายมาเป็นพาดหัวใหญ่ของสื่อทั่วโลก

กระนั้น นักวิเคราะห์มองว่า คลิปสังหารโหดนี้ มีการเตรียมการมากเป็นอย่างดี ขณะที่ ‘จอร์แดน’ เป็นหนึ่งในชาติพันธมิตรฝั่งอาหรับที่ให้ความร่วมมือทางทหารกับสหรัฐฯ ส่วนในแง่ของการเลือกวีธีการเผาตัวประกัน ที่แตกต่างจากครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากกลุ่มไอเอส มักจะใช้การฆ่าเฉือนคอโชว์เรื่อยมา คือ ครั้งนี้ตัวประกันเป็นชาวจอร์แดน ซึ่งเป็นชาวมุสลิม ไม่ใช่ชาวตะวันตกอย่างเช่นที่ผ่านมา และหากผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามคนใด ถูกไฟเผาไหม้ร่างกาย จะถือว่าเป็นการเสียเกียรติสูงสุดในชีวิต


3.ผู้ช่วยนักบิน ต้องสงสัย จงใจนำเครื่องบิน ‘เยอรมัน วิงส์’ ดิ่งเทือกเขาแอลป์ 


อีกหนึ่งเหตุการณ์ เหตุวินาศกรรมทางอากาศยาน เมื่อช่วงเดือน มี.ค. เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญชาวโลกอีก 1 เหตุการณ์ เมื่อเครื่องบินโดยสารแอร์บัส เอ320-200 จากสายการบินเยอรมันวิงส์ เที่ยวบิน 4ยู9525 เส้นทางการบินจากเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ไปประเทศเยอรมัน โหม่งโลกบริเวณกลางเทือกเขาแอลป์ ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 150 ราย

โดยเงื่อนงำของเรื่องดังกล่าว เกิดขึ้นจากการตั้งสมมุติฐาน ในการตรวจสอบอุปกรณ์บันทึกเสียงในห้องนักบิน โดยนายอันเดรียส ลูบิตซ์ ผู้ช่วยนักบิน จงใจปรับลดระดับการบิน จากความสูง 38,000 ฟุต ลงเหลือ 5,000 ด้วยการฉวยโอกาสตอนกัปตันลุกไปเข้าห้องน้ำ จงใจบังคับเครื่องบินให้ชนภูเขา และล็อกประตูไม่ให้กัปตันกลับเข้าห้อง ซึ่งมูลเหตุจูงใจ เจ้าหน้าที่พุ่งเป้าไปที่ ปัญหาสุขภาพจิต และอาการซึมเศร้าอย่างรุนแรงของนักบินรายนี้ ทั้งยังมีหลักฐานชี้ว่า นายนายลูบิตซ์เคยเข้ารับการบำบัดอาการอยากฆ่าตัวตาย ก่อนได้รับใบอนุญาตเป็นนักบิน

4.วิกฤตผู้อพยพจากตะวันออกกลาง ไหลหลั่งเข้ามายังยุโรป


ผู้อพยพจำนวนมากจากทั้งเอเชีย แอฟริกา โดยเฉพาะตะวันออกกลาง เดินทางเข้าไปในประเทศยุโรปเป็นจำนวนมหาศาลในปีนี้ ส่วนใหญ่ลี้ภัยจากกลุ่มก่อการร้าย สงครามกลางเมือง และโรคระบาด โดยพวกเขาคิดว่า ยุโรปจะเป็นจุดหมายที่ดีกว่าของชีวิต

แต่ในระหว่างนั้น กลับไม่ราบรื่น เพราะต้องเผชิญความเสี่ยงทั้งสภาพอากาศ คลื่นลม การขาดแคลนน้ำและอาหาร รวมถึงสภาพเรือที่ไม่เหมาะสม ทำให้มีผู้อพยพจมน้ำตายในขณะเดินทางมาทางเรือ ต้องเผชิญชะตากรรมที่น่าสงสาร ทั้งอดอาหาร ขาดที่นอน

แต่กระนั้นสถานการณ์ผู้อพยพถือว่าเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2  เพราะกลายมาเป็นวิกฤติด้านมนุษยธรรม และยังไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการรับมือได้ จนกระทั่ง กลายมาเป็นปัญหา ผู้ก่อการร้าย แฝงตัวมาในคราบผู้อพยพ และอาจจะเข้ามาก่อความไม่สงบในยุโรปได้

5.เนปาลวิปโยค แผ่นดินไหวหนัก 7.8 แมกนิจูด คร่าชีวิตประชาชนราว 9 พันศพ 


เมื่อวันที่ 25 เม.ย. เกิดเหตุการณ์ที่ประเทศ เนปาล ความรุนแรงขนาด 7.8 แมกนิจูด เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สร้างความเสียหาย แผ่นดินไหวครั้งนี้ ถือเป็นภัยพิบัติครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบ 80 ปี นับตั้งแต่แผ่นดินไหวใหญ่ในรัฐพิหาร ประเทศเนปาล เมื่อปี 2477 เหตุดังกล่าว เกิดขึ้นบริเวณภาคกลางของประเทศ รวมประชาชนที่ต้องเสียชีวิตจากเหตุดังกล่าวรวมเฉียด 9 พันศพ และบาดเจ็บอีกราว 2 หมื่นราย

นอกจากความเสียหายจากแผ่นดินไหวนี้ยังทำให้เกิดหิมะถล่มบนยอดเขาเอเวอเรสต์ นอกเหนือจากความเสียหายต่อชีวิตแล้ว อาคารเก่าแก่หลายศตวรรษ ที่ยูเนสโกยกย่องให้เป็นมรดกโลก ในหุบเขากาฐมาณฑุ และจัตุรัสกาฐมาณฑุดูร์บาร์ถูกทำลาย แต่ในความเลวร้าย จากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทำให้โลกได้เห็นเรื่องดี ๆ อยู่บ้าง เนื่องจากน้ำใจจากหลายประเทศทั่วโลก หลั่งไหลมาให้ความช่วยเหลืออย่างคับคั่ง

6.เพลิงมฤตยู ผลาญท่าเรือเทียนจิน


ช่วงเดือนสิงหาคม เกิดเหตุระเบิดบริเวณครั้งยิ่งใหญ่ ที่ท่าเรือของเมืองเทียนจิน ทางตอนเหนือของประเทศจีน มีรายงานผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก โดยคลังเก็บสินค้าดังกล่าว มีสารเคมีอันตรายกักเก็บอยู่ภายใน

สารเคมีเหล่านี้ ทำให้เพลิงได้ลุกลามไปยังอาคารต่าง ๆ จนกระทั่งทรุดตัวลงมา แรงสั่นสะเทือน ส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในระแวกใกล้เคียง สามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน จนชาวบ้านบางราย เข้าใจผิดคิดว่าเกิดเหตุแผ่นดิน

7. ชี้ชะตา ‘โรฮิงญา’ แก้ปัญหาดรามา เรือมนุษย์


นับได้ว่า ประเด็นดราม่าข้ามชาติ ของกลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญา ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ ชาว ‘โรฮิงญา’ หลีกหนีความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนา จากประเทศเมียนมา และ กว่านับร้อย นับพันชีวิต ที่ลอยลำกลางทะเล อยู่ในสภาพน่าเวทนาวิกฤติกลุ่มชาติพันธุ์ชาว ‘โรฮิงญา’ นับพันชีวิต ที่ถูกผลักดันออกจากประเทศเมียนมา และเดินทางข้ามทะเลทางเรือ ทำให้ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทำให้ในช่วงพฤษภาคมที่่ผ่านมา ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องร่วมกันเจรจา หารือ ในการจัดการกับผู้อพยพ หลังจากที่รัฐบาลพม่าตีตราว่า ชาวโรฮิงญามิใช่ประชากรชาติพันธุ์พม่าในประเทศตนอย่างแท้จริง แต่เป็นแรงงานข้ามชาติที่มาจากบังคลาเทศ รัฐบาลเมียนมา จึงทำการระงับการให้สัญชาติแก่ชาวโรฮิงญานับตั้งแต่ปี 2513 ดังนั้นชาวโรฮิงญาจึงถูกปฏิเสธการให้บริการขั้นพื้นฐาน และหนีตายจากเมียนมามายังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค จนกลายเป็นปัญหาค้ามนุษย์ในเวลาต่อมา

8.เครนถล่มในพิธีฮัจญ์


ในช่วงที่ชาวมุสลิมทั่วโลก หลั่งไหลไปร่วมพิธีศักดิ์สิทธิ์ ในนครมักกะห์ประเทศซาอุดิอาระเบีย เกิดเหตุไม่คาดฝัน พายุพัดเครนยักษ์ถล่มลงมากลางมัสยิดฮารอม นครมักกะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งภายในเต็มไปด้วยผู้แสวงบุญจากทั่วทุกมุมโลก เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 111 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 238 ราย

เหตุครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลซาอุฯ ถูกนานาประเทศ แสดงความไม่พอใจต่อการขาดความรัดกุมในการรักษาความปลอดภัยให้กับผู้แสวงบุญ ที่หลั่งไหลมาร่วมพิธีฮัจญ์ราว 2 ล้านราย โดยสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดัลอะซิซ อาล สะอูด หรือ ‘กษัตริย์ซัลมาน’ ประมุขแห่งราชวงศ์ซาอุฯ ได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้จ่ายเงินชดเชยไปยังญาติของเหยื่อเคราะห์ร้าย โดยผู้เสียชีวิต ได้รับชดเชยราว 1 ล้านไรยัล หรือราว 9.62 ล้านบาท ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจนถึงขั้นพิการอย่างถาวร จะได้รับค่าชดเชยเป็นเงินราว 500,000 ไรยัล หรือราว 4.8 ล้านบาท

9. เหตุวินาศกรรม กลางกรุงปารีส ศุกร์ 13 มหันตภัยก่อการร้ายกลางเมือง


เมื่อช่วงเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา เกิดเหตุกลุ่มไอเอสโจมตีกรุงปารีสอีกครั้ง ในวันศุกร์ที่ 13 พ.ย. ในรูปแบบดาวกระจาย ราว 6 จุด ได้แก่ ใกล้สนามสต๊าด เดอ ฟรองซ์ ในย่านแซงต์ เดอ นีส์ ชานกรุงปารีส ซึ่งกำลังมีการแข่งขันฟุตบอลนัดกระชับมิตร ซึ่งในขณะนั้นประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์กำลังชมการแข่งขันอยู่ด้วย รวมถึงศูนย์ศิลปะบัตตากล็อง และศูนย์ศิลปะบัตตากล็อง ในเขต 11 ผู้ก่อเหตุอย่างน้อย 6 คน ใช้ปืนออโตเมติกกราดยิงผู้มาชมการแสดงดนตรีของศิลปินอเมริกัน รวมถึงก่อเหตุกราดยิงที่ภัตตาคารเปติท แคมโบดจ์

โดยเหตุวินาศกรรมครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 130 ศพและบาดเจ็บ 350 คน เหตุครั้งนั้น ทำให้เกิดความวิตกภัยก่อการร้าย ลุกลามไปถึงสหรัฐฯ และทำให้ รัฐบาลฝรั่งเศสส่งทหาร 1,500 นาย เข้าประจำทั่วกรุงปารีส เพื่อรักษาความปลอดภัย ส่วนประธานาธิบดีสั่งปิดชายแดน และยกเลิกกำหนดการณ์สำคัญ ๆ แม้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้ก่อเหตุจะไม่แน่ชัด แต่เจ้าหน้าที่ของฝรั่งเศสสงสัยว่า น่าจะเป็นการกระทำของกลุ่มคนที่เดินทางรวมกลุ่มรัฐอิสลามในอิรักและซีเรีย หรือ กลุ่มไอเอส เดินทางกลับเข้ามาในฝรั่งเศส ในฐานะผู้อพยพ

10.แฟนนางงาม เสพดราม่าชามโต เมื่อ เกิดการประกาศชื่อประเทศผิดพลาด บนเวที Miss Universe ทำให้ต้องสลับมงกุฎกันกลางเวที


ถือได้ว่า เป็นดราม่าระอุส่งท้ายปี สำหรับกรณีนางงามบนเวทีระดับโลกอย่าง Miss Universe 2015 ที่ต้องสลับมงกุฎกลางเวที เนื่องจากทางกองประกวดพยายามทำให้โลกเข้าใจว่า Steve Harvey ดาวตลกชื่อดังชาวอเมริกัน ที่รับหน้าที่เป็นพิธีกร ประกาศผลรางวัล ผิดพลาด จากที่ต้องประกาศชื่อสาวงามจากฟิลิปปินส์ กลับพลาดพูดชื่อประเทศโคลัมเบีย ทั้งยังทิ้งช่วงห่างเพื่อแก้ไขความผิดพลาดไปราวนาที กว่าจะมีการออกมายอมรับ ทำให้ต้องมีการสลับมงกุฎ จากหัวของมิสโคลัมเบีย มาไว้ที่หัวของมิสฟิลิปปินส์ซะ

ชาวออนไลน์ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะนักสืบโซเชียลของไทย ต่างตั้งข้อสังเกต ถึงความไม่ชอบมาพากลหลายประการ เช่น ประเด็นเรื่องการเมือง การสร้างกระแสให้เกิดการพูดถึง การแก้แค้นโคลัมเบียโดยสหรัฐฯ ทั้งยังเบนประเด็นมาที่การวิจารณ์สาวงามจากฟิลิปปินส์ผู้ครองมงกุฏว่า ไม่สมกับตำแหน่ง และยังมีข่าวฉาว เกี่ยวกับเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ กับผู้นำสูงสุดของฟิลิปปินส์อีกด้วย


Source: MThai News
Previous
Next Post »
0 Komentar